วันเสาร์ที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

ปัญหายาเสพติดในสังคมที่ต้องแก้ไข

ปัญหาสังคมเป็นคำที่ได้มีการกล่าวถึงมายาวนานน้อยคนนักที่จะรู้และเข้าใจความหมายของคำว่าปัญหาสังคมอย่างแท้จริงในที่นี้ได้มีผู้ให้ความหมายไว้หลายแนวทางดังนี้
             “สภาพการณ์อย่างหนึ่งอย่างใดซึ่งส่งผลกระทบอันไม่พึงปราถนาต่อคนจำนวนหนึ่งซึ่งมากพอสมควรจนเกิดความรู้สึกกันว่าควรที่จะได้ดำเนินมาตรการบางอย่างด้วยกระทำการร่วมกันโดยทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง”(Horton & Leslie)
           “ปัญหาสังคมเป็นภาวะการณ์และแบบอย่างพฤติกรรมที่สมาชิกให้สังคมพิจารณาว่าอุปสรรคน่าขัดขวาง ดีกรีแห่งความรีบด่วนที่ต้องดำเนินการแก้ไข ขึ้นอยู่กับการนิยามของชุมชนว่าเป็นเรื่องคุกคามทำอันตรายต่อชุมชนโดยแท้จริง และสามารถดำเนินการแก้ไขได้โดยการวางแผนและใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ให้เป็นประโยชน์” ( Weinberg)
             เมื่อกล่าวถึงปัญหาสังคมที่ทวีความรุนแรงและเป็นปัญหาเร่งด่วนที่จะต้องดำเนินการแก้ไข นั้นคือปัญหายาเสพติด ซึ่งถือเป็นปัญหาสังคมอย่างหนึ่ง ซึ่งคนไทยเราได้รู้จักและพูดกันมานานหลายชั่วอายุคนแล้ว จนกระทั่งปัจจุบันมีบัญชีรายชื่อยาเสพติดในโลกนี้ยาวเหยียด จนจำแทบไม่ไหวแล้ว

             หากคิดใคร่ครวญดูให้ชัดๆ จะมองเห็นว่า การต่อสู้เพื่อเอาชนะปัญหายาเสพติด ก็คือการต่อสู้แย่งชิงประชาชนในลักษณะสงครามเย็น ประชาชนส่วนใหญ่เป็นของเราอยู่แล้ว แต่มีข้าศึกเล็ดลอดเข้ามาจับตัวไปเป็นเชลยทีละคนสองคนโดยไม่มีทีท่าว่าจะหยุดที่สำคัญกว่านั้นข้าศึกไม่ปรากฏตัวตน มีแต่ตัวแทนที่หลบซ่อนแฝงตัวอยู่เต็มไปหมดการใช้กำลังเข้าปราบปรามโจมตี ก็จะเข่นฆ่าจำกัดได้เฉพาะเชลยและไส้ศึกบางส่วนเท่านั้นการทำสงครามเพื่อเอาชนะปัญหายาเสพติด จึงมีลักษณะเป็นการทำศึกที่จะต้องสู้รบติดพัน ยืดเยื้อยาวนาน การบุกเข้าหักล้างด้วยกำลังปราบปราม จึงไม่น่าจะเป็นยุทธวิธีที่จะเอาชนะปัญหาได้

             จากการที่รัฐบาลได้ประกาศเจตนารมณ์ที่จะทำสงครามกับยาเสพติด ด้วยพลังแผ่นดินนั้น นับว่าเป็นนิมิตหมายที่ดีและเป็นก้าวสำคัญที่จะช่วยให้การแก้ปัญหาประสบความสำเร็จได้ ดังคำกล่าวของ พ.ต.ท. ดร. ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ที่ได้กล่าวในการประชุมระดมความคิดเพื่อกำหนดแนวทางเอาชนะยาเสพติด ที่จังหวัดเชียงราย เมื่อวันที่ 10-11 มีนาคม 2544 โดยกล่าวว่า

             “ปัญหายาเสพติดมีความรุนแรงมาก จำนวนผู้เสพมีมาก การทำลายของยาเสพติดต่อคุณภาพของคนรุนแรงมาก จะต้องใช้ยุทธศาสตร์พลังแผ่นดิน จึงจะได้ผล กล่าวคือต้องให้คนทั้งชาติมาช่วยกันต้องให้ทุกคนรู้ว่าภัยของชาติในทุกด้านมันมีอยู่จริง ต้องปลุกเร้าให้เกิดความเป็นชาติความรักสามัคคี”

             การใช้ยาเสพติดเป็นพฤติกรรมการใช้ยาในทางที่ผิด เป็นพฤติกรรมอย่างหนึ่งของมนุษย์ที่เบี่ยงเบนออกไปจากแนวปกติ จะเกิดขึ้นได้ก็ต้องอาศัยองค์ประกอบหลายอย่างผสมผสานกันที่สำคัญคือ ต้องมียาเสพติด มีกลุ่มผู้ค้าและกลุ่มผู้เสพ ซึ่งก็คือประชากรในทุกกลุ่มที่อยู่ในสังคม รวมทั้งภาวะทางสังคมที่เอื้ออำนวยให้เพลี่ยงพล้ำตกเป็นทาสยาเสพติดชนิดนั้นๆ

             การที่บุคคลจะตัดสินใจเลือกที่จะใช้ยาเสพติดเป็นทางออกหรือไม่นั้น มีองค์ประกอบอยู่หลายอย่างในทีนี้จะขอกล่าวถึงบริบทโดยรวมที่เกี่ยวข้อง ในการเอื้อให้เกิดปัญหายาเสพติด ดังนี้

             1.สภาวะของสังคม สภาพสังคมที่มีความปกติสุข ทุกคนในสังคมสามารถดำเนินชีวิตอย่างปกติธรรมดาได้อย่างมีความสุข ไม่มีแรงผลักดันให้ต้องพึ่งยาเสพติด และมีทางเลือกอื่นที่ดีกว่าการใช้ยาเสพติดการใช้ยาในทางที่ผิดก็จะไม่เกิดขึ้น

             2. ขนบธรรมเนียมและประเพณี มีส่วนสำคัญในฐานะปัจจัยเกื้อหนุนต่อการใช้ยาเสพติดเช่นครอบครัวที่พ่อแม่มีอาชีพต้มเหล้าขาย หรือเปิดร้านขายเหล้า บุหรี่ หรือครอบครัวที่พ่อแม่ นิยมตั้งวงกินเหล้า เล่นไพ่ สูบบุหรี่ รวมทั้งธรรมเนียมพื้นบ้านของบางท้องถิ่นที่ชักชวนกันเสพสิ่งเสพติดกันอย่างสนุกสนานในเทศการต่างๆ ย่อมเป็นองค์ประกอบที่ชักจูงให้เด็กหันไปเสพสิ่งเสพติดตามอย่างได้
อย่างง่ายดาย

             3. อิทธิพลความฟุ้งเฟ้อ เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้คนในสังคมหันไปเสพสิ่งเสพติด เช่น การเฉลิมฉลองในโอกาสต่างๆ การกระทำตามอย่างของวัยรุ่น ที่คิดว่ายาเสพติดเป็นสิ่งที่ไม่น่ากลัวและจำเป็นต้องใช้เพื่อเพิ่มความสนุกสนานในการเที่ยวเตร่ เป็นต้น ความฟุ้งเฟ้อเหล่านี้เป็นเรื่องของค่านิยมที่เราจะรณรงค์ชักจูงให้เลิกหรือขจัดให้หมดไปได้ยากยิ่ง

             4. ขาดแคลนแหล่งพักผ่อนหย่อนใจ การที่ประชาชนในสังคมขาดแคลนแหล่งพักผ่อนทั้งกายและใจ ทำให้ไม่มีช่องทางผ่อนคลายความเครียดและความกดดัน ประชาชนบางส่วนจึงหันเข้าหาการพักผ่อนด้วยการดื่มเหล้า

จากที่ได้กล่าวถึงปัญหายาเสพติดในภาพรวมมาทั้งหมด จะเห็นได้ว่าการขับเคลื่อนของสังคมโดยรวมจะสามารถส่งผลให้ปัญหาต่างๆ คลี่คลายในทางที่ดีได้แนวคิดทางสังคมที่เห็นว่าเหมาะสมที่จะนำมาใช้ในการแก้ปัญหาต่อสถานการณ์ปัญหายาเสพติด ก็คือ ฉันทามติ (Consensus Theory)กล่าวคือ

             “ความคิดเห็นที่รวมกันจำนวนหนึ่งของกลุ่มที่ผสมผสานกัน หรือของสาธารณะอย่างหนึ่ง ซึ่งรวมเอาความคิดเห็นของมวลสมาชิก แล้วผนึกเข้าไว้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันไม่จำเป็นจะต้องเป็นความคิดที่ลงรอยกันเป็นเอกฉันฑ์ แต่เป็นความคิดที่มวลสมาชิกถือเป็นฐานในการปฏิบัติการอย่างใดอย่างหนึ่งอย่างน้อยก็คราวหนึ่ง”

             ทุกคนในสังคมยอมรับว่ายาเสพติดเป็นปัญหาสำคัญที่สุด ที่บ่อนทำลายประเทศชาติและประชากรในชาติ โดยเฉพาะเด็กและเยาวชน ที่ถือว่าเป็นกำลังสำคัญในอนาคต ยาเสพติดก็แพร่ระบาดเข้าไปอย่างรวดเร็ว ทุกส่วนในสังคมพยายามเข้าไปช่วยเหลือแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น แต่ดูเหมือนว่ายิ่งแก้ไข ปัญหาก็ยิ่งมากขึ้นและทวีความรุนแรงซับซ้อนขึ้นทุกทีจากแนวทางการแก้ไขปัญหาที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่า การดำเนินงานเป็นไปในลักษณะแยกส่วน ต่างคนต่างแก้ ความซ้ำซ้อนและความไม่มีเอกภาพในการแก้ไขปัญหาจึงเกิดขึ้น

             การสร้างฉันทามติจะเป็นเครื่องมือในการให้คนในสังคมเห็นพ้องต้องกัน เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในการต่อสู้กับปัญหาที่เกิดขึ้น ซึ่งจะต้องมีการพึ่งพาอาศัยกัน (Interdependent) มีการประสานงานกันทำงานอย่างผสมผสาน และความสอดคล้องในเรื่องความเห็น ความรู้สึก ที่เห็นว่ายาเสพติดเป็นภัยคุกคามต่อสังคมโดยรวม

กระแสโลกาภิวัฒน์และวัฒนธรรมตะวันตก ได้แทรกซึมอยู่ในสังคมไทยในทุกพื้นที่ ซึ่งมีส่วนผลักดันให้การแก้ไขปัญหาแบบฉันทามติไม่บังเกิดผลเท่าที่ควร จะเห็นได้จากสมาชิกในสังคมนิ่งเฉยต่อปัญหาการมุ่งทำงานตามกระแสทุนนิยมจนขาดความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ แม้กระทั่งสมาชิกของครอบครัวตนเองรวมถึงเจ้าหน้าที่ของรัฐและนักการเมืองบางส่วนเข้าไปเกี่ยวข้องกับขบวนการค้ายาเสพติดอีกด้วย การสร้างฉันทามติ อาจจะไม่เพียงพอต่อการแก้ไขปัญหายาเสพติด การจัดระเบียบสังคม (Social Control) จะเป็นเครื่องมือที่จะช่วยทำให้สังคม มีระเบียบ มีความสงบมั่นคงถาวร และสมาชิกของสังคมสามารถดำเนินชีวิตของตนไปได้

             “การจัดระเบียบสังคมเป็นกระบวนการที่มีขอบเขตกว้างขวางมาก เป็นกระบวนการที่ครอบคลุมปรากฏการณ์สังคมหลายอย่าง เริ่มจากการจัดให้มีกฎเกณฑ์ ข้อบังคับต่างๆ หลายอย่าง เพื่อให้สมาชิกในสังคมยึดถือเป็นแนวทางในการปฏิบัติกัน กฎเกณฑ์เหล่านี้คือ บรรทัดฐานทางสังคม (Social Norm)ที่เป็นแบบแผนพฤติกรรมที่เป็นที่คาดหวังของสังคม เป็นมาตรบานที่สมาชิกของสังคมถูกคาดหวังให้ปฏิบัติตามจึงเป็นที่ยอมรับโดยทั่วไป”

             กฏเกณฑ์ที่เรียกว่าบรรทัดฐานทางสังคมนั้นมีอยู่หลายประการ โดยทั่วไปนักสังคมวิทยาจะแบ่งบรรทัดฐานทางสังคมออกเป็น 3 ประเภท คือ วิถีชาวบ้าน (Folk ways) จารีต (Mores) และ กฎหมาย (Laws) ในการแก้ปัญหายาเสพติดที่ผ่านมาเห็นว่ากฎหมายได้เพิ่มความรุนแรงและเข้มงวดมากขึ้นในการลงโทษผู้ค้าและผู้ที่เกี่ยวข้อง แต่ผลที่ได้รับก็คือปัญหายังทวีความรุนแรงมากขึ้น และไม่มีทีท่าว่าจะลดลง จึงพอจะสรุปได้ว่าการลงโทษไม่ใช่แนวทางการแก้ไขปัญหายาเสพติดอย่างถูกต้องเท่าใดนัก

             เมื่อมองย้อนไปสิบกว่าปีมาแล้ว ปัญหายาเสพติด ยังไม่แพร่ระบาดรุนแรงมากทั้งยังสามารถควบคุมและจำกัดวงของการแพร่ระบาดได้ ซึ่งต่างจากปัจจุบัน ที่ปัญหาได้ทวีความซับซ้อนและรุนแรงเพิ่มขึ้น ทุกส่วนของสังคมยอมรับว่ายาเสพติดเป็นปัญหาเร่งด่วนที่จะต้องแก้ไข โดยภาครัฐได้กำหนดยุทธศาสตร์ การใช้พลังแผ่นดินเพื่อเอาชนะยาเสพติดตามคำสั่งของนายกรัฐมนตรีที่ 119/2544 ลงวันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2544 เพื่อให้คนไทยทั้งชาติร่วมมือร่วมใจแก้ไขปัญหายาเสพติด

             หากมองถึงความซับซ้อนยาเสพติดที่ฝังรากลงลึกในสังคมไทยจะพบว่าการเปลี่ยนแปลงทางสังคมเป็นปัจจัยของความคงอยู่ของปัญหาเช่นกัน จะเห็นได้จากกระแสทุนนิยมจากตะวันตกได้ครอบงำและเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตและวิธีคิดของคนในสังคมไทย ทำให้วิถีชาวบ้าน จารีตประเพณี และวัฒนธรรมที่ดีงามของไทยอันเป็นเกราะป้องกันยาเสพติดและปัญหาสังคมอื่นๆ ถอยห่างจากครอบครัว ชุมชน และสังคมไทยไปทุกที ช่องว่างเหล่านี้จะเป็นที่อยู่ของปัญหาต่างๆในสังคม ไม่เว้นแม้กระทั่งยาเสพติด การแพร่ระบาดของปัญหาที่เพิ่มขึ้นจึงเป็นตัวแปรที่สอดรับกับช่องว่างที่เกิดขึ้นเหล่านี้  วิถีชาวบ้าน จารีต และวัฒนธรรมที่ดีงามของสังคม จึงควรที่จะได้รับการเอาใจใส่ และฟื้นฟู ให้เข้มแข็งดังเช่นอดีตที่ผ่านมา ในอันที่จะให้ครอบครัว ชุมชนเกิดความเข้มแข็งซึ่งจะส่งผลไปยังสังคมโดยรวม ให้เกิดความเข้มแข็ง และเกิดเป็น ฉันทามติ เพื่อแก้ไขปัญหายาเสพติดให้หมดไปจากสังคมไทยได้ในที่สุด

สรุป

             การป้องกันปัญหายาเสพติด ควรจะเน้นการป้องกัน โดยการสร้างสภาพแวดล้อมของสังคมที่ไม่ผลักดันและส่งเสริมให้คนต้องหันไปพึ่งยาเสพติด จะต้องมีกลไกเพื่อพัฒนาลักษณะนิสัย และบุคลิกภาพให้คนพึ่งตนเองได้โดยไม่ต้องพึ่งยาเสพติด เป็นเครื่องค้ำจุนชีวิต จึงจะต้องอาศัยกลไกทางวิถีชาวบ้าน จารีตและวัฒนธรรมในการขับเคลื่อน ไปสู่ฉันทามติที่ทรงพลัง ในการแก้ไขปัญหาและในขณะเดี่ยวกันก็ต้องดำเนินการให้ผู้ใช้ยาเสพติดได้รับการบำบัดรักษาให้หายและฟื้นฟูจิตใจให้หลุดพ้นจากการเป็นทาสยาเสพติดตลอดไป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น