วันเสาร์ที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

สาเหตุของการติดและการระบาดของสารระเหย

สาเหตุของการติดสารระเหย
เกิดจากแรงชักจูงของเพื่อนเพื่อให้เป็นที่ยอมรับในหมู่เพื่อน ราคาถูก หาซื้อง่ายกว่าสารเสพติดชนิดอื่น ออกฤทธิ์เร็ว บรรจุหีบห่อง่ายและพกพาสะดวก 


     คุณสมบัติทางกายภาพ
สารระเหยเกือบทุกชนิดจะเป็นของเหลว มีกลิ่นเฉพาะตัว จุดเดือดค่อนข้างต่ำมีความหนืด ค่าแรงตึงผิว และค่าความดันไอต่ำ จึงสามารถระเหยได้ดี สารระเหยบางตัวติดไฟได้ สารระเหยละลายน้ำได้ไม่ดีแต่ละลายในไขมันได้ดี


     การกระจายตัว การดูดซึม และการกำจัดเมื่อสารระเหยเข้าสู่ร่างกาย
สารระเหยเข้าสู่ร่างกายได้ดีมากโดยเฉพาะทางการสูดดม และยังสามารถแพร่กระจายไปยังส่วนต่างๆของร่างกายได้อย่างรวดเร็ว เนื่องจากสามารถแทรกตัวเข้าไปในแขนงปอดได้ดี จากนั้นจะแพร่เข้าสู่กระแสโลหิตแล้วแพร่กระจายไปยังอวัยวะต่างๆทั่วร่างกาย โดยเฉพาะอวัยวะที่มีส่วนประกอบของไขมันอยู่มาก เช่นระบบประสาท เป็นต้น สารระเหยบางชนิดบางส่วนจะถูกกำจัดออกมาทางปอด แล้วผ่านทางเดินหายใจออกมา โดยอยู่ในรูปที่ไม่เปลี่ยนแปลง จึงสามารถได้กลิ่นจากการหายใจได้ บางส่วนที่เหลือจะถูกเปลี่ยนแปลงที่ตับเป็นสารตัวอื่น และถูกขับออกทางไต


     การเกิดพิษ
การเกิดพิษแบ่งเป็นการเกิดพิษระยะเฉียบพลันและการเกิดพิษระยะเรื้อรัง


1.พิษระยะเฉียบพลัน
อาการที่มักจะเกิดทันทีหลังเสพสารระเหยคือ ในระยะแรกจะทำให้มีความรู้สึกเป็นสุข ร่าเริง ตื่นเต้น ต่อมาจะมีอาการเมาคล้ายเมาสุรา พูดจาอ้อแอ้ ไม่ชัด ไม่รู้เวลาสถานที่ ควบคุมตัวเองไม่ได้ มีอาการระคายเคืองต่อเยื่อบุภายในปากและจมูก ทำให้น้ำลายไหลออกมาก ตามีความไวต่อแสงมากขึ้น มีเสียงในหู กล้ามเนื้อทำงานไม่ประสานกัน ในตอนแรกจะมีผลกระตุ้นระบบประสาทส่วนกลางทำให้นอนไม่หลับ ต่อมาจะมีฤทธิ์กด ทำให้ง่วงซึม หมดสติ ถ้าเสพขนาดสูง สารระเหยจะไปกดศูนย์หายใจทำให้ตายได้ สารระเหยบางชนิดทำให้หัวใจเต้นเร็วผิดปกติ โดยเฉพาะถ้าสูดดมในสภาวะตึงเครียด หรือเหน็ดเหนื่อยจากการออกกำลังกาย การสูดดมเป็นเวลาสั้นๆ ก็อาจถึงแก่ชีวิตได้ นอกจากนี้ยังพบอาการจาม ไอ คลื่นไส้ ท้องเดิน สั่นและชักแบบลมบ้าหมู


2.พิษระยะเรื้อรัง

เนื่องจากการสูดดมติดต่อกันเป็นเวลานาน ทำให้อวัยวะในร่างกายเสื่อมสภาพ เช่น
2.1 อาการทางระบบประสาท  มีผลต่อทั้งระบบประสาทส่วนกลางและส่วนปลาย โดยทำให้เกิดอาการวิงเวียน เดินโซเซ ลูกตาแกว่ง พูดลำบาก มือสั่น ตัวสั่น หลงลืม เซื่องซึม ความคิดอ่านช้าลง สับสน นิสัยและอารมณ์เปลี่ยนแปลง การรับรู้เปลี่ยนแปลงไป เช่นการมองเห็น อาจทำให้เห็นภาพซ้อน การได้กลิ่นผิดปกติไป หรืออาจเกิดอาการปลายประสาทอักเสบ ชาตามมือปลายเท้า
2.2 อาการทางระบบหัวใจและหลอดเลือด  ทำให้จังหวะการเต้นของหัวใจผิดปกติ กดการทำงานของไขกระดูกทำให้การสร้างเม็ดเลือดหยุดชะงักทำให้เม็ดเลือดแดงต่ำ เกร็ดเลือดต่ำ เลือดออกง่าย อ่อนเพลีย บางรายอาจเกิดมะเร็งในเม็ดเลือดขาวได้
2.3 อาการทางระบบทางเดินหายใจ  อาจเกิดอาการระคายเคืองจนกระทั่งถึงอาการอักเสบตั้งแต่ปลายจมูกจนถึงหลอดลม ปอด ถุงลม อาจเกิดอาการน้ำคั่งในปอด มีเลือดออกในถุงลม
2.4 อาการทางระบบทางเดินอาหาร  ทำให้เกิดอาการปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเดิน เบื่ออาหาร น้ำหนักลด บางรายพบเลือดออกในกระเพาะอาหาร นอกจากนี้ยังพบว่ามีการทำลายเนื้อเยื่อของตับเป็นหย่อมๆ ตับโต ตับและไตอักเสบ บางรายปัสสาวะเป็นเลือด
2.5 อาการทางระบบกล้ามเนื้อ  ทำให้กล้ามเนื้อลีบ จนถึงเป็นอัมพาตได้
2.6 ระบบสืบพันธุ์ ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของโครโมโซม ซึ่งมีหน้าที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรม ทำให้อาจมีผลลดการสร้างอสุจิเนื่องจากเซลล์ในท่ออสุจิผิดปกติไป
2.7 อื่นๆ  เช่น หากถูกผิวหนัง ทำให้ผิวหนังแห้ง เป็นผื่นคัน ถ้าถูกตาจะทำให้ตาบอดได้ เป็นต้น


    อาการขาดยา
เกิดอาการหงุดหงิด หาวนอน ปวดท้อง เหงื่อออกมาก คลื่นไส้ อาเจียน จาม คัดจมูก ปวดตามกล้ามเนื้อ ฟุ้งซ่าน น้ำตาไหล ขนลุก ตะคริว นอนไม่หลับ กระสับกระส่าย ปวดกระดูก เจ็บหน้าอก เป็นต้น




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น