วันเสาร์ที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

ความรัก ความเข้าใจคือเกราะกันภัยยาบ้า

วัยรุ่นเป็นวัยที่มีการเปลี่ยนแปลงที่เรียกว่าหัวเลี้ยวหัวต่อ มีอารมณ์ความรู้สึกรุนแรงขึ้น ติดเพื่อน มีพฤติกรรมเอาอย่าง คิดอะไรได้ไม่ลึกซึ้งเท่าผู้ใหญ่ ตื่นเต้นกับสิ่งกระตุ้น หรือสิ่งเร้าได้ง่าย เหล่านี้คือจุดเปราะบางของพวกเขา คุณกานดา แนะนำข้อคิดดีๆ แด่คุณพ่อคุณแม่ ผู้ปกครองที่มีลูกหลานในวัยรุ่นและกำลังก้าวสู่วัยรุ่นได้น่าฟัง

"การให้ความรักความอบอุ่น โดยการแสดงความรักให้ประจักษ์ สำคัญมาก เพราะเด็กจะให้ความสำคัญกับการกระทำและวิธีการของพ่อแม่มากกว่าคำพูด เช่นพ่อแม่ที่รักลูกก็ควรแสดงออกด้วยคำพูดที่ชัดเจนเช่น "พ่อแม่รักลูก" พูดอย่างสม่ำเสมอ ไม่จำเป็นต้องพูดทุกวัน แต่ไม่ใช่พูดปีละครั้ง ไม่ใช่แค่พูด สังคมไทยยังขาดการแสดงออกและการสัมผัสถ่ายทอดความรู้สึกซึ่งกันและกัน บางครั้งการลูบหลัง ลูบไหล่ เป็นการให้ความรักความอบอุ่นที่เด็กจะรู้สึกดีมาก การส่งสายตา การมองด้วยความรัก ความห่วงใย ประกอบคำพูด "แม่เป็นห่วงหนูนะ" หรือคำพูดแสดงความรู้สึกอื่นๆ ออกมาด้วย เช่น "แม่ภูมิใจในตัวลูก" "แม่รักลูกมาก" นอกจานี้สิ่งที่มักจะไม่ได้ปฏิบัติกันในสังคมไทยก็คือถามไถ่ความรู้สึกกันในแต่ละวัน เพื่อแสดงความใส่ใจ ไม่ว่าลูกจะมีความสุข ความทุกข์อย่างไรในแต่ละวันนั้นสำคัญมาก พ่อแม่ควรจะรับรู้ และเป็นผู้รับฟังปัญหาของลูกได้เสมอ "

จงอย่าลืมว่าผู้ใหญ่เป็นผู้วางรากฐานแต่ไม่ใช่ผู้กำหนดกฎเกณฑ์ให้เด็กเดินตาม หรือคิดว่าความคิดตนเองเท่านั้นถูกเสมอ แบบ "พ่อนี้อาบน้ำร้อนมาก่อน" อย่างนี้ถูกครึ่งเดียว เพราะเด็กมีสิทธิ์คิดและเลือกด้วยตัวเอง ที่แน่ๆ หากลูกหลานคุณมีปัญหา ผู้ใหญ่ห้ามตัดปัญหาสั้นๆ ง่ายๆ แบบรวบรัด เช่น หากลูกคุณดูหน้าตาย่ำแย่กลับมาจากโรงเรียน ควรจะถามไถ่ก่อนไม่ใช่ "ไล่ไปอาบน้ำให้สบายไปจะได้หายหน้าเมื่อย" อย่างนี้ลูกคุณคงไม่ดีขึ้นแถมยังรู้สึกพึ่งพาคุณไม่ได้เสียอีก คุณน่าจะไต่ถามดูว่า "วันนี้หนูไม่สบายใจอะไรหรือเปล่า" ด้วยน้ำเสียงอ่อนโยน สนใจ แล้วปล่อยให้ลูกเล่า อย่าอคติ อย่าใช้วิธีสืบสวนให้เด็กเกร็งกลัวจนไม่กล้าเล่า อย่างนี้คงไม่สามารถจะเข้าใจปัญหาของลูกได้แน่นอน

วิธีการที่จะทำให้เด็กสนิทใจจนเชื่อมั่นกล้าเล่าความรู้สึกนึกคิดของเขาออกมาให้คุณรับรู้คือสิ่งสำคัญมาก ประการแรกคือท่าทีรับฟัง อ่อนโยน ทั้งน้ำเสียงแววตา ทาทาง คุณต้องใจกว้าง เป็นผู้ฟังที่ดี ยอมรับความคิดเห็นของเด็ก ให้โอกาสเขาคิด ทำ และพูด ให้คำแนะนำ อย่าตอกย้ำซ้ำเรื่องเดิมๆ หรือจุดอ่อนของเด็กที่เคยผิดพลาด เรื่องใดแล้วให้แล้วไปเริ่มต้นใหม่ให้ดีกว่าเก่า เขาจะรู้ว่าคุณคือผู้ที่รักและห่วงใย เป็นเพื่อนคู่คิดของเขาอย่างแท้จริง แปลว่าคุณเข้าถึงจิตใจของเขา

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น